วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ทิศทางทางการศึกษา...มาถูกทางแล้วหรือ?

ที่มาของรูป: เว็บไซท์ ประชาชาติ

       ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในหลายๆ ปีเช่น 2552-2553 จะเห็นว่ากลุ่มแรงงานในประเทศที่ว่างงานมากที่สุดคือ กลุ่มแรงงานในระดับปริญญาตรี หลายคนสงสัยและทำไมจึงเป็นเช่นนั้น การพัฒนาระบบการศึกษาของคนในชาติกำลังประสบกับปัญหาอะไรอยู่?
       สมัยผมทำ Thesis ในระดับปริญญาโทที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมเคยอ่านงานวิจัยของสภาพัฒน์ฯและจุฬาเล่มหนึ่ง ในความคิดเห็นส่วนตัวเห็นว่า งานวิจัยดีๆ ควรจะถูกเผยแพร่ และให้ข้อมูลแก่เด็ก ผู้ปกครอง ในช่วงที่เป็นครูมัธยมก็พยายามที่จะปรับความคิด ความเข้าใจให้แก่ลูกศิษย์ หากวันข้างหน้าเขาจะได้ไม่ลำบาก เพราะผมมีประสบการณ์ในการสอนทั้งในระดับ มัธยม อาชีวะและมหาวิทยาลัย เลยเข้าใจความแตกต่างทางความคิด ค่านิยม สังคมและความต้องการของคนเป็นอย่างดี
        แม้ว่ารัฐบาลจะเข้าใจดีว่า ความต้องการแรงงานในประเทศส่วนใหญ่ ไม่ใช่แรงงานที่มีคุณวุฒิสูงหรือระดับปริญญามากนัก แต่เราต้องการนักปฏิบัติหรือช่างเทคนิคชั้นสูงที่สามารถตอบสนองต่อบริษัท โรงงานต่างๆ ตามความคาดหมายว่า เราจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ที่ต้องการแรงงานช่างฝีมือเหล่านี้ เพราะแรงงานเหล่านี้เป็นแรงงานทักษะ และมีฝีมือช่างชำนาญกว่าสายวิชาการที่เรียนกันมากในมหาวิทยาลัย อีกทั้งค่าจ้าง สวัสดิการก็ถูกกว่า เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพของงานที่ควรจะเป็น รัฐบาลพยายามตั้งเป้าว่า อีกสิบปีข้างหน้า (2563) จะเปลี่ยนผู้เรียนในสายสามัญ (มัธยม) ให้มาเรียนอาชีวะ หรือคิดเป็นอัตราส่วน สายอาชีวะต่อสายสามัญ เป็น 60:40 แต่เมื่อดูแนวโน้มในปัจจุบันแล้วน่าใจหาย!!
       ทำไมผมจึงพูดเช่นนี้ บัณฑิตจบใหม่ที่จบสายสังคมศาสตร์ กำลังล้นตลาดในเมืองไทย แทบจะทุกมหาวิทยาลัยต้องเปิดสอนสาขาเหล่านี้ เช่น บริหาร บัญชี การตลาด รัฐประศาสนาศาสตร์ ฯปัจจุบันนี้ฮิตฮอต เปิดสาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์เช่น วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ โดยไม่ดูศักยภาพและความพร้อมของอุปกรณ์และบุคลากรในสถาบันของตน ความเป็นจริงแล้ว ผู้หลักผู้ใหญ่หรือผู้บริหารในสถาบันการศึกษาเคยสำรวจจริงๆ จังๆ หรือไม่ว่า บัณฑิตที่ท่านผลิตออกมา ส่วนใหญ่ทำงานตรงกับที่เรียน หรือความรู้ที่สอนๆ กันมันใช้ได้จริงมากน้อยเพียงไร โดยเฉพาะปัจจุบันที่มหาวิทยาลัยน้อยใหญ่ต่างออกนอกระบบกันหมด การพึงพาเงินงบประมาณจากรัฐอย่างเดียว มหาวิทยาลัย/วิทยาลัย ทั้งของรัฐและเอกชน ต้องดิ้นรน หาทางรอด ด้วยการเปิดหลักสูตรเรียกเงิน ทั้งภาคปกติและภาคพิเศษ ที่สำคัญคือ จำนวนผู้เรียนที่เพิ่มสูงขึ้นสวนทางกับจำนวนครูอาจารย์ที่รับผิดชอบที่มีจำนวนไม่เพียงพอ
       ตอนนี้ปัญญามหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรแปลกๆ เปิดศูนย์การศึกษานอกวิทยาเขตเยอะแยะเต็มไปหมด โดยเฉพาะบัณฑิตศึกษาในระดับปริญญาโทภาค ข ประเภทจ่ายครบ จบเเน่เยอะแยะเต็มไปหมด น่าสงสารคนไทย "เดี๋ยวนี้กลายเป็นปริญญานิยมไปซะหมด" ถ้าลูกหลานได้เข้ารับปริญญาบัตรจากเจ้าจากนาย ถือเป็นความภาคภูมิใจ แต่หลายคนจบมา ต้องมานั่งๆ นอนๆ อยู่กับบ้านเพราะหางานทำไม่ได้ บางคนก็ได้งานทำที่ต่ำกว่าวุฒิการศึกษา หลายคนอายที่จะบอกว่า "ฉันจบปริญญาแต่ใช้วุฒิมอหกทำงาน"  สิ่งเหล่านี้เป็นเพราะอะไร?
     1. คนไทยยึดติดกับปริญญาบัตร (ปริญญานิยม) แต่ไม่สนใจความถนัดและศักยภาพที่มีของตัวเอง พ่อแม่ก็คาดหวังให้ลูกได้ปริญญาสักใบ เพราะคาดหวังว่า ปริญญาคือใบเบิกทางของครอบครัวและความมั่นคง
     2. มหาวิทยาลัยสมัยนี้ต่างเปิดหลักสูตรล่อใจ ดึงดูดให้เด็กเข้ามาเรียนมากๆ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเกิดใหม่ (ตระกล้าใบที่สาม) ซึ่งไม่มีเป้าหมายหรือไม่สร้างเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของตนเอง ผมมองว่า มหาวิทยาลัยควรเป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทาง นี้เปิดหลักสูตรใหม่ๆ ดึงดูดผู้เรียนแต่ไม่คำนึงถึงความพร้อมและศักยภาพทางการบริหาร การจัดการและการสอน
     3. ผู้เรียนสาย ปวช. ปวส. ซึ่งเป็นกำลังหลักของการพัฒนาประเทศมีจำนวนน้อยลง เพราะข้อมูลวิจัยระบุว่า บริษัท/โรงงานต่างๆ ต้องการคุณวุฒิระดับนี้มากถึงร้อยละ 50 ของจำนวนแรงงงานทั้งหมด แต่ผู้เรียนสายมัธยมศึกษาตอนต้นเลือกที่จะเข้าศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี มากกว่าเรียนสายอาชีวะศึกษา
     4.สถาบันการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา ต่างแข่งขันให้เด็กสอบเข้าสถาบันดังๆ ดีๆ สร้างค่านิยมผิดๆ ให้แก่ผู้เรียน แทนที่จะให้ผู้เรียนประเมินความสามารถ ค้นหาความถนัดและตรงกับศักยภาพของตัวเอง เช่น ผู้เรียนไม่สามารถเรียนสายสามัญได้ พ่อแม่/โรงเรียนก็ไม่อยากให้ลูกเรียน สายอาชีวะศึกษาเพราะมองว่าไม่มีอนาคต รายได้ต่ำกว่าคนจบปริญญาตรี ภาพลักษณ์ความรุนแรงเป็นต้น
     5. การศึกษาในปัจจุบันเน้นเนื้อหาวิชามากกว่า การปฏิบัติ แม้กระทั้งในระดับ ปวช.ปวส เองก็มีข้อควรคำนึงว่า การศึกษาในปัจจุบัน เด็กอาชีวศึกษาเก่งปฏิบัติจริงหรือ เพราะมีข้อบ่งชี้ว่า เด็กกลุ่มนี้ยังมีทักษะทางด้านสังคม การสื่อสาร(ภาษาอังกฤษ)และฝีมือช่างต่ำและไม่สอดคล้องกับอุปกรณ์ เทคโนโลยีใหม่ๆ ของบริษัท โรงงาน ที่เปลี่ยนเเปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่ระบบการสอนยังเดิมๆ หรือล้าหลังอยู่
      

    สุดท้ายนี้ผมก็หวังว่า ค่าแรงวุฒิปริญญาตรี 15,000 บาทจะไม่ทำให้บริษัท โรงงานห้างร้านต่างๆ ไม่ต้องการคนจบปริญญาตรี ไหนจะค่าจ้าง สวัสดิการ ค่าตอบแทนพิเศษ ขนาดการบริหารจัดการภาครัฐยังวุ่นวายมีปัญหาสารพัดกับโครงการเหล่านี้ คนจบปริญญาตรี คงต้องพิจารณาให้ดีว่า "เรียนเอาทักษะวิชาชีพ เอาความรู้จริงๆ สอดคล้องกับความต้องการของตนเอง มีใจรักให้กับเนื้อหาวิชา ศาสตร์ที่ตัวเองเลือกเรียนหรือไม่ หรือแค่เอากระดาษไม่กี่แผ่น และเลือกเพราะตามคนอื่น เช่น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ และเพื่อน หากเป็นเช่นนั้น คงไม่อยากนึกฝันว่า วันข้างหน้าเราจะได้เห็นว่า
              "ปริญญาตกงานหลายแสนคน อาจจะเป็นล้านๆ คน รวมไปถึงปริญญาโท ปริญญาเอกเดินเตะฝุ่นข้างทาง เพราะคิดแต่จะได้ปริญญา แต่ไม่มีความรู้"

        การเลือกสถาบันการศึกษาก็มีผลกับตัวเด็กและตัวของเรา สิ่งสำคัญที่เราต้องคิดว่า "เราเรียนไปเพื่ออะไร อยากเป็นอะไร สถาบันการศึกษาเหล่านั้นตอบโจทย์ให้เราได้มากน้อยแค่ไหน เพราะเมื่อเลือกเดินทางไปแล้วจะถูกหรือผิด ก็ยากที่จะย้อนมาเดินใหม่ ควรคิดให้รอบครอบในสภาวะปัจจุบันที่มหาลัยส่วนใหญ่ในประเทศไทย เป็นมหาวิทยาลัยผลิตกระดาษ ผลิตบุคคลให้ท่องจำแต่เนื้อหาวิชาในหนังสือ ออกข้อสอบยากๆ แต่แทบจะไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อะไร งานวิจัยส่วนใหญ่ก็อยู่บนหิ้ง ฝุ่นหนาเป็นกิโลๆ เพราะไม่มีใครอยากหยิบมาอ่าน องค์ความรู้ทั้งหลายมันสูงส่งเกินไป จึงเอามาประยุกต์ใช้ลำบากยิ่งนัก

       เมื่อใดก็ตามที่ผมพบเจอศิษย์เก่ามัธยม ผมมักจะถามเขาว่า "จบแล้วคุณจะไปต่อที่ไหน" ถ้าเขาบอกผมว่า เขาอยากเป็นช่างครับครู ผมจะสนับสนุนเต็มที่ เพราะทราบดีว่าลูกศิษย์แต่ละคนมีความชอบ ความพร้อมไม่เหมือนกัน เขาคงอยากเป็นช่างชำนาญการในอนาคต มากกว่าที่จะไปเป็นนกแก้วนกขุนทอง ท่องตำราหนาๆ เรียนพิเศษกันหัวมุน ในสายมัธยมและเขาคงไม่ถนัด และคงไม่ชอบใจ ก็แค่จะบอกว่า "ขอให้ตั้งใจเรียนและอย่าไปมีปัญหาล่ะ"

      ส่วนคนที่พอจะเรียนไหว เรียนดี อยากสอบเข้าโรงเรียนดังๆ ก็สนับสนุน "ขอให้เธอโชคดี และได้ปริญญาตามที่เธอตั้งใจเอาไว่ว่า อยากทำอาชีพอะไรในอนาคต แต่ขอให้ตั้งใจจริง และเชื่อว่า เธอต้องทำได้ มุ่งมั่นเอาประสบการณ์ไม่ใช่ปริญญา"


     ไม่มีใครบอกได้ว่า อนาคตของเด็กแต่ละคนจะไปเป็นอะไร แต่ห่วงใยเหลือเกินกับการศึกษาในปัจจุบัน เด็กไทยเรียนเยอะมาก ครูมีคุณวุฒิสูงขึ้น ปริญญาโท ปริญญาเอก อาจารย์ 3 อาจารย์ 4  C8 C9 ตามแต่จะเรียกกันไป ผศ รศ ศ. ก็เยอะ แต่การศึกษาแย่ลงทุกวัน สวนทางกันจริงๆ ประเทศไทยเราเป็นอะไรไป.....ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ สงสารก็แต่เด็กๆ ที่เขาแย่เช่นนี้เพราะใคร?

       
ความคิดเห็นส่วนตัว........ขออภัยด้วยถ้ามีข้อความใดไม่ถูกต้องนะครับ   วชิรวิทย์


ไม่มีความคิดเห็น: